Honda City Turbo RS ลองขับ ”จิ๋วจี๊ด พันเทอร์โบ”
Honda City Turbo RS ลองขับ ”จิ๋วจี๊ด พันเทอร์โบ”
เครื่องพันเทอร์โบจะขับสนุกขนาดไหน??? ครั้งนึงผมเคยมีคำถามแบบนี้ ตอนที่ฮอนด้าเปิดตัว City รุ่นใหม่ในปี 2019 มาพร้อมกับเครื่องยนต์บล็อกใหม่ที่มีความจุ 1.0 ลิตร มาพร้อมกับ Turbo แทนที่เครื่องยนต์ตระกูล L15 ที่มีความจุ 1.5 ลิตร บล็อกเดิม ที่ไม่มีระบบอัดอากาศ เครื่องยนต์บล็อกนี้มาอย่างยาวนานร่วม 20 ปี
ลองมาไล่รถที่ใช้เครื่องยนต์ L15 มีอยู่ในรถหลายรุ่นตั้งแต่
- Honda City ปี 2006 (Gen4) จนถึง City รหัสบอดี้ GM6 ปี 2019 (Gen6)
- Honda Jazz GD ปี 2001-2007 Jazz GE 2007-2014 Jazz GK 2014-2022
- Honda Freed ปี 2008-2016
- Honda Mobilio ปี 2014-2020
- Honda BR-V ปี 2016-2021 (Gen1) 2022-ปัจจุบัน (Gen2)
- Honda WR-V ปี 2022-ปัจจุบัน
ที่เล่ามาเป็นเพียงโมเดลรถที่จำหน่ายในประเทศไทยโดยใช้เครื่องยนต์ L15 ทั้งนั้น อาจจะต่างกันที่เวอร์ชั่นและรายละเอียดต่างๆ
กลับเข้าสู่ City Turbo RS โฉมล่าสุด ปี 2024 มีให้เลือกทั้ง Sedan และ Hatchback นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทั้ง e-Hev และ Turbo รุ่นเทอร์โบมาพร้อมขุมพลัง P10A6 3 สูบ เบนซิน ปริมาตรกระบอกสูบอยูที่ 988 ซีซี 12 วาล์ว เพิ่มพละกำลังด้วยเทอร์โบชาร์จและวาล์วแปรผัน VTC ในฝั่งไอดี พละกำลังสูงสุดตามสเป็คของฮอนด้าอยู่ที่ 122 แรงม้า ที่ 5500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2000-4500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแปรผัน CVT
อันที่จริงแล้วเครื่องยนต์บล็อก 1.0 ลิตร เทอร์โบ ไม่ได้อยู่ในโมเดล City เท่านั้น เพราะยังมีอยู่ใน Civic โฉม FK ทั้งซีดานและแฮทช์แบค ที่จำหน่ายในประเทศจีนอีกด้วย โดยเวอร์ชั่นประเทศจีนจะเป็นบล็อก P10A2 มีพละกำลังอยู่ที่ 128 แรงม้า แรงบิด 200 นิวตันเมตร
หากถามว่าเครื่อง 1.5 ลิตร กับ 1.0 ลิตร เทอร์โบ นอกจากความจุและพละกำลัง ยังมีอะไรที่ต่างกันอีก ก็ต้องบอกกันตรงๆว่าช่วงกำลังในรอบต้นของทั้ง 2 บล็อกต่างกันเพราะ 1.5 ลิตร รอบต่ำจะมีกำลังมากกว่า กลับกันเจ้า 1.0 ลิตร รอบต้นก็ไปเรื่อยๆ แต่จะขับสนุก็ต่อเมื่อบู๊สติดที่ 2 พันรอบเป็นต้นไปกดคันเร่งรอบจะกวาดอย่างต่อเนื่องและมีการเซ็ทให้เปลี่ยนอัตราทดเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter เมื่อขับขี่ในโหมด Sport ถ้าอยู่ในโหมด Eco และ Normal รอบจะลากกันยาวๆแบบ CVT
การดีไซน์ภายในใช้สีดำล้วนทั้งหมด (Piano Black) โดยเฉพาะรุ่น RS ที่เบาะนั่งจะใช้วัสดุหนังสลับวัสดุ Suede ตัดกับด้ายแดง ปรับได้ 6 ทิศทางเฉพาะฝั่งผู้ขับขี่ ส่วนฝั่งคนนั่งปรับ 4 ทิศทาง เครื่องเสียงที่จอกลางขนาด 8 นิ้ว รองรับ Android Auto และ Apple Carplay รวมไปถึง Honda Connect และพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น
อัตราสิ้นเปลืองทริปนี้ทีมงาน Inforlife ได้พาเจ้า City Turbo วิ่งทางไกลไป กรุงเทพ-บุรีรัมย์-กรุงเทพ ระยะทางรวมประมาณ 700 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 19.6 กิโลเมตร/ลิตร กับความเร็วที่ใช้เดินทางอยู่ที่ 90-110 กม./ชม. มีช่วงที่ขึ้นไปใช้ทางด่วน M6 ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ช่วงนี้จะใช้ความเร็วคงที่ 110 กม./ชม. เรื่องเสียงรบกวนจะเริ่มมีที่ความเร็ว 110 กม./ชม. ขึ้นไป เรื่องช่วงล่างเซ็ทมากลางๆเดินทางไกลได้ ขับในเมืองก็ไม่แข็งเกินไป
Editor Comment : ส่วนตัวเคยขับ City Turbo ทั้งเวอร์ชั่น Seden และ Hatchback แม้รูปลักษณ์ของทั้ง 2 รุ่นจะต่างกันที่ด้านหลังตัวรถ แต่การตอบสนองแทบจะไม่มีความต่าง ในเรื่องสมรรถนะและอัตราเร่ง แต่ด้วยรุ่น Hatchback จัดทรงโหลดเตี้ยใส่ล้อแม็กซ์ทำให้ตัวรถดูสวยขึ้น โดยพละกำลังเดิมโรงงานสามารถวิ่งจมไมล์ (วิ่งทำความเร็วสูงสุดได้เท่ากับมาตรวัดโรงงานให้มาคือ 210 กม./ชม.) เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีไม่วาคุณจะใช้งานทั่วไปหรือจับมาแต่งสวยทำแรง City Turbo ก็ตอบโจทย์อย่างลงตัว ครั้งหน้าจะเป็นคิวของ City e-Hev พิสูจน์ว่าวิ่งในเมืองทำตัวเลขได้ขนาดไหน