finbiz by ttb เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ รับมือเทรนด์ธุรกิจอนาคต สู่การเติบโตที่ยั่งยืน

finbiz by ttb เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ รับมือเทรนด์ธุรกิจอนาคต สู่การเติบโตที่ยั่งยืน

   เมื่อ : 12 มิ.ย. 2567

finbiz by ttb เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ รับมือเทรนด์ธุรกิจอนาคต สู่การเติบโตที่ยั่งยืน 

 

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงานสัมมนาเสริมความรู้เพื่อการวางแผนธุรกิจอย่างยั่งยืน finbiz connect the future for growth เชื่อมเทรนด์ธุรกิจอนาคต..สู่กลยุทธ์การเติบโตยั่งยืน เสริมแกร่งผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ นำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปปรับใช้ เพื่อรับมือกับเทรนด์ธุรกิจอนาคต พร้อมวางแผนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

นางสาวสุกัญญา ตรีเสน่ห์จิต รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีทีบีเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโซลูชัน 360 องศาที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ซัพพลายเชนของแต่ละอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ มุ่งเน้นการสนับสนุนลูกค้าเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตลอดจนยกระดับการทำธุรกรรมทางการเงินสู่ดิจิทัล โดยมี ttb business one ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อดิจิทัลโซลูชันทางธุรกิจ จึงได้จัดงานสัมมนาภายใต้ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในธุรกิจ พร้อมวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

นางสาวปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคอนเซปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ (Baramizi Lab) ได้เจาะลึกเทรนด์ธุรกิจอาหารอนาคต 2025 ที่มาจากความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ และเทรนด์การบริโภคอาหารของผู้คนในอนาคต ซึ่งครอบคลุม 3 เรื่องหลัก คือ 1) กินเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคเลือกการกินเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ เช่น Medical Food ในรูปแบบเจลลี่เสริมสารอาหาร ตอบโจทย์โภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition) 2) กินเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ ผู้บริโภคไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่อยู่เพื่อเลือกกิน เน้นเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่น ชานมไข่มุกท็อปปิ้งด้วยหมูสามชั้น และ 3) กินเพื่อโลก ผู้บริโภคคำนึงถึงการกินอย่างไรให้ทำร้ายโลกน้อยลง เช่น ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ประหยัดน้ำ พร้อมกับแนะนำการวางกลยุทธ์ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าที่เติมเต็มการดูแลสุขภาพองค์รวม สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและตอบโจทย์การบริโภคให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการควรออกแบบให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน โฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือความสามารถในการใช้ซ้ำ รวมถึงควรสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าองค์กรหรือแบรนด์มีความตระหนักและจริงจังในด้านของความยั่งยืน 

 

ขณะที่นายสุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้งแบรนด์โทฟุซัง และซีอีโอ บริษัท โทฟุซัง จำกัด ถอดบทเรียนความสำเร็จของธุรกิจที่เริ่มจากไซส์ S ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2567 ซึ่งคาดว่ายอดขายจะทะลุหลักพันล้านบาทเป็นปีแรก มีเคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่าน 4 หัวใจสำคัญ คือ 1) Visionary มีความเชื่อและชัดเจนกับตนเองว่าสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาทำไม พร้อมสร้างปรัชญาบริษัทด้วยถ้อยคำง่าย ๆ  เพื่อสื่อสารแล้วเห็นภาพตาม เช่น ปรัชญาของโทฟุซังคือ เพราะทุกคนล้วนเป็นคนสำคัญที่เราใส่ใจ และปรัชญาที่ตั้งขึ้นนี้จะอยู่กับบริษัทไปตลอด 2) Innovative พยายามแข่งในตลาดที่แข่งขันได้ และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคแสวงหา เช่น โทฟุซังพัฒนานมถั่วเหลืองขึ้นมาเพื่อแก้ Pain Point ของลูกค้าที่ต้องการหาซื้อน้ำเต้าหู้สำหรับบริโภคได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีรสชาติเหมือนน้ำเต้าหู้แท้ ๆ และมีอายุสินค้ายืนยาวกว่าน้ำเต้าหู้รถเข็น 3) Cost Effective คิดเรื่องต้นทุนอย่างจริงจัง เพื่อสู้ศึกในตลาดอย่างไม่เสียเปรียบมากนัก สุดท้าย 4) Data Driven ข้อมูลหลังบ้านมีความสำคัญ เก็บทุกข้อมูลที่สามารถเก็บได้ ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อข้อมูลอย่างเดียว การเก็บข้อมูลไว้มาก ๆ จะช่วยบริหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น 

 

ด้านนายถนอม เกตุเอม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรู้ภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms แนะนำเทคนิคการวางแผนภาษีเพื่อสร้างรากฐานการเงินที่แข็งแรง โดยต้องให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” เพื่อนำมาจัดสรรในการเสียภาษี โดยรายการที่กรมสรรพากรสนใจว่าธุรกิจเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ คือ รายได้ทางภาษีและค่าใช้จ่ายต้องห้าม เพราะสองรายการนี้ทำให้กำไรทางภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งการประหยัดภาษีที่เหมาะสมคือ การวางแผนบริหารค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ดีขึ้น โดยในปัจจุบันภาครัฐกำลังส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หากเจ้าของธุรกิจลงทุนจัดทำระบบ e-Tax Invoice และ e-Withholding Tax ในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด จะได้รับสิทธิลงรายจ่ายได้สองเท่า ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้รายจ่ายของธุรกิจ “คุ้มค่า” มากขึ้น 

 

ขณะที่ นางสาววรงค์นาฏ ตรงคงสิน หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ  
ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวถึงการบริหารจัดการต้นทุนและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อกำไรของธุรกิจ ทีทีบีจึงได้พัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็น ttb sme one bank บัญชีที่ช่วยประหยัดต้นทุนด้วยการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ttb smart shop ตัวช่วยในการจัดการร้านค้า (Merchant Application) การรับชำระผ่าน QR ที่เงินเข้าบัญชีทันที และมาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ Analytic Report เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการขายและลูกค้าเชิงลึก ครบทุกมิติ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ttb quick pay บริการสร้าง Link เพื่อการรับชำระเงินออนไลน์ทั้งการชำระผ่าน QR Code และบัตรเครดิต พร้อมข้อมูลบน Dashboard ให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงินได้ ttb payroll plus บริการโอนจ่ายเงินเดือนและดูแลสวัสดิการพนักงานแบบครบวงจร รวมทั้ง Automotive Solution ที่ตอบโจทย์รถยนต์เพื่อธุรกิจแบบครบวงจร โซลูชันทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมศักยภาพให้เอสเอ็มอี เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

 

ทีทีบีมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่เอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ สามารถก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

#finbizbyttb #โครงการเสริมความรู้SME 

#smartsme #เอสเอ็มอียุคดิจิทัล 

#ตัวช่วยเอสเอ็มอี #SMEเติบโตอย่างยั่งยืน 

#ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น 

#ttb #MakeREALChange