YUMMY ROSE นิทรรศการเดี่ยว โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ภัณฑรักษ์ โดย ธิติ ธีรวรวิทย์
YUMMY ROSE นิทรรศการเดี่ยว โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ภัณฑรักษ์ โดย ธิติ ธีรวรวิทย์
YUMMY ROSE นิทรรศการเดี่ยว โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ภัณฑรักษ์ โดย ธิติ ธีรวรวิทย์
งานเปิดนิทรรศการ วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
ช่วงเวลาจัดแสดง 4 พฤษภาคม - 21 กรกฎาคม 2567 เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. - 20.00 น.
ห้อง HOP PHOTO GALLERY MMAD ชั้น 3 มันมัน ศรีนครินทร์
Google map: https://goo.gl/maps/caQgLisLvvkaz3Gu5
คุณเคยซื้อดอกไม้หรือไม่?
และในยามที่คุณซื้อดอกไม้ คุณมองเห็นเรื่องราวอะไรอยู่ในนั้น?
นิทรรศการ YUMMY ROSE โดยนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ บอกเล่าถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับระบบการผลิต การบริโภค และการซื้อขายดอกไม้ของตลาดดอกไม้ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อย่างปากคลองตลาด โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดทางตลาดและการควบคุมราคาของดอกไม้ โดยมุ่งเน้นสังเกตไปที่อุตสาหกรรมรับซื้อดอกไม้สดที่มีผลกระทบต่อการผลิตของชาวสวนดอกไม้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาให้ความสนใจถึงต้นกำเนิดของดอกไม้อันบานสะพรั่งที่มาจากความบากบั่นของชาวสวน
ในเชิงความหมายนั้น สิ่งมีชีวิตที่งดงามอย่าง ‘ดอกไม้’ มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องในเชิงสังคม ด้วยการเป็นตัวแทนที่ใช้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของบุคคล และเป็นเครื่องมือส่งต่อห้วงอารมณ์ ความรู้สึกรัก ห่วงหาอาทร หรือแม้แต่ความโศกเศร้าเสียใจในชีวิตก็ได้เช่นกัน
เมื่อดอกไม้เป็นตัวแทนของคำพรรณนา มนุษย์ก็จินตนาการภาพความรู้สึกของพวกตนให้กว้างออกไป แล้วรวบรวมเรื่องราวจนสามารถจัดวางดอกไม้ให้เกิดเป็นทัศนียภาพอันงดงามตามโอกาสต่างๆ ตามความคล้องจองของบุคคลที่ข้องเกี่ยว ท่ามกลางมวลดอกไม้จำนวนมหาศาลที่เอ่อล้นอยู่เบื้องหน้า ยังมีดอกไม้อีกกลุ่มที่ถูกหลบซ่อนอยู่เบื้องล่าง ภายใต้องค์ประกอบแต่ละชั้นของการจัดวาง ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ถูกซ้อนทับลึกลงไปอีก ผ่านการถูกจัดแจง ถูกตัดแต่ง ถูกดัดแปลง วงจรแห่งดอกไม้ได้ถูกดูแลจากมือของชาวสวน ตั้งแต่เริ่มปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงขั้นตอนจัดจำหน่าย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของชีวิตชาวสวนกลับมีที่มาจากปัจจัยของต้นทุนและราคารับซื้อของผู้ค้าคนกลางที่ไม่แน่นอน จนชาวสวนตัวเล็กๆ ก็ต้องยอมรับสภาพตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจตามสถานการณ์ที่ตนมีด้วยความจำใจ
ศิลปินนำเสนอภาพของกุหลาบแดง 100 ดอก ที่เดินทางจากฟาร์มในจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสู่กรุงเทพฯ แรงสั่นสะเทือนจากพาหนะขนส่งทำให้ดอกไม้เหล่านี้เสียรูปทรงไปบ้างประปราย
ผลงานของนรภัทรตั้งใจนำเสนอความเป็นไปของดอกไม้ที่ถูกแปรรูปเพื่อการบริโภค สะท้อนภาพระบบการจัดการวัตถุดิบก่อนจะถูกขายเป็นผลิตภัณฑ์ และนำเข้าสู่กระบวนการธุรกิจที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ โครงสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด ที่คัดกรองข้อมูล ภาพ และจำกัดสิ่งที่ถูกนำเสนอให้เป็นไปตามสิ่งที่กลุ่มธุรกิจต้องการ และถึงแม้จะมีกฎหมายควบคุมใดๆ ก็ไม่สามารถยับยั้ง หรือป้องกันความเหลื่อมล้ำที่ปรากฎระหว่างเส้นทางแห่งดอกไม้นี้ได้ทั้งหมด
ความเป็นไปของการจับจ่ายใช้สอยยังดำรงอยู่ด้วยการบริโภคสิ่งที่ตอบสนองความต้องการ ขณะที่บรรษัทผู้ผลิตสินค้าก็สร้างความปรารถนาให้อยู่เหนือความจำเป็นเฉพาะโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ จนทำให้ผู้คนที่ได้รับชมสื่อเหล่านั้นมองเห็นว่าการมีอยู่ของพืชพรรณอันงดงามนี้เป็นสิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคมเพียงเท่านั้น และมิได้ให้มุมมองใดๆ ที่ไปถึงกลุ่มแรงงานผู้ใช้หยาดเหงื่อแรงกายในการเพาะพันธุ์ดอกไม้เหล่านี้ขึ้นมา